รูป

วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
 

จาก คลังปัญญาไทย, สารานุกรมฟรี

Jump to: navigation, search

สารบัญ

[ซ่อนสารบัญ]

[แก้ไข] ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice)

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก (International Court of Justice) ปัจจุบันเป็นองค์กรหลักหนึ่งในหกองค์กรหลักของสหประชาชาติ ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ จัดตั้งขึ้นโดยกฎบัตรประชาชาติ และมีเขตอำนาจและหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ศาลโลกต่างกับอนุญาโตตุลาการตรงที่ว่าอนุญาโตตุลาการเกิดจากการจัดตั้งของรัฐคู่พิพาทเป็นสำคัญ ส่วนศาลโลกไม่ได้เกิดจากการจัดตั้งดังกล่าว แต่เป็นองค์กรหลักของสหประชาชาติ มีธรรมนูญกำหนดโครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของตนเอง รวมทั้งมีระเบียบกฎเกณฑ์ของตนเองในการพิจารณาปัญหาข้อขัดแย้งทางกฎหมาย
กฎบัตรสหประชาชาติมาตรา๙๓ ระบุว่า “รัฐสมาชิกสหประชาชาติทุกรัฐย่อมเป็นภาคีของธรรมนูญศาลโลก และรัฐที่มิใช่สมาชิกสหประชาชาติสามารถเข้าเป็นภาคีของศาลโลกได้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องให้สมัชชาเป็นผู้พิจารณาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง”
        สมาชิกสหประชาชาติต้องให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในทุกคดีที่ตนเป็นคู่กรณี (มาตรา๙๔ วรรค๑ ของกฎบัตร) และถ้ารัฐคู่กรณีใดไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ผูกพันรัฐนั้นตามคำตัดสินของศาลโลก คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งสามารถเรียกร้องต่อคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งถ้าเห็นจำเป็น คณะมนตรีความมั่นคงอาจทำคำแนะนำ หรือตัดสินใจเพื่อให้มีการดำเนินการตามคำตัดสินของศาลโลก (มาตรา๙๔ วรรค๒ ของกฎบัตร)
        อย่างไรก็ดี กฎบัตรสหประชาชาติมิได้ห้ามรัฐสมาชิกสหประชาชาติที่จะนำปัญหาข้อขัดแย้ง หรือข้อพิพาทให้ศาลอื่นๆ พิจารณาตามความตกลงระหว่างกันที่ใช้อยู่ หรือที่จะกระทำกันในอนาคต (มาตรา๙๕ ของกฎบัตร)
         ศาลโลกปัจจุบันไม่มีงบประมาณของตนเองโดยเอกเทศ เพราะงบประมาณรายรับรายจ่ายผูกพันอยู่กับสหประชาชาติ

[แก้ไข] องค์ประกอบของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ :

        ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศประกอบด้วยสมาชิก ๑๕ คน ซึ่งในจำนวนนี้จะมีผู้พิพากษาซึ่งเป็นคนชาติของรัฐใดรัฐหนึ่งเกินหนึ่งคนมิได้ โดยสมาชิกเช่นว่านั้นจะได้รับการเลือกตั้งจากสมัชชาใหญ่ การเสนอซึ่งนามของกลุ่มประเทศ จากศาลสถิตย์อนุญาโตตุลาการ กล่าวคือ ผู้พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ จะเป็นตัวแทนกลุ่มประเทศในภูมิภาคต่างๆของโลก มากกว่าที่จะได้รับเลือกมาจากรัฐบาลของรัฐใดรัฐหนึ่ง โดยสมาชิกของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะอยู่ในตำแหน่ง ๙ ปี และอาจได้รับเลือกอีกได้ ทั้งนี้ สมาชิกของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ๕ คน จะต้องออกจากตำแหน่งทุกๆ ๓ ปี

[แก้ไข] เขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ :

        เขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจำแนกออกเป็นสองลักษณะ กล่าวคือ
(๑) เขตอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาททั้งปวงที่รัฐคู่พิพาทเสนอต่อศาล ในลักษณะที่เป็นกระบวนพิจารณา ในลักษณะของการต่อสู้ความ (contentious proceeding) ทั้งนี้เฉพาะ “รัฐ” เท่านั้นที่จะเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาดังกล่าวนี้ได้ และ
(๒) เขตอำนาจในการให้คำแนะนำ (advisory opinion) ในปัญหาข้อกฎหมายตามที่องค์กรใดๆ อาจได้รับมอบอำนาจให้ขอความเห็นแนะนำเช่นว่านั้น หรือตามกฎบัตรสหประชาชาติ เช่น สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือคณะมนตรีความมั่นคง และองค์กรอื่นๆของสหประชาชาติ ตลอดทั้งทบวงการชำนัญพิเศษ (specialized agencies) ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ

[แก้ไข] กฎหมายระหว่างประเทศที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาท

        กฎหมายระหว่างประเทศที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เสนอต่อศาลนั้น ปรากฏอยู่ในข้อ ๓๘ แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่
(๑) อนุสัญญาระหว่างประเทศไม่ว่าทั่วไป หรือโดยเฉพาะ ซึ่งกำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับโดยชัดแจ้งโดยที่รัฐกล่าวอ้าง
(๒) จารีตประเพณีระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นหลักฐานแห่งการถือปฏิบัติโดยทั่วไป ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกฎหมาย
(๓) หลักกฎหมายทั่วไปซึ่งอารยประเทศยอมรับ
(๔) ภายใต้บังคับแห่งบทของข้อ๕๙ คำพิพากษาของศาล และคำสอนของผู้ทรงคุณวุฒิอย่างสูงของประเทศต่างๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องช่วยในการพิจารณากำหนดหลักกฎหมาย
        นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ยังมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทโดยอาศัยหลักความยุติธรรม และความรู้สึกผิดชอบอันดี หากคู่กรณีตกลงตามนั้น

[แก้ไข] ผลของคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ :

        คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศย่อมมีผลผูกพันคู่พิพาทในส่วนที่เกี่ยวกับคดีที่พิพาทนั้น และเป็นที่สุด โดยไม่มีการอุทธรณ์ใดๆ อย่างไรก็ดี แม้คู่พิพาทจะไม่สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ก็ตาม แต่คู่พิพาทก็สามารถที่จะขอให้ศาลทบทวนคำพิพากษาได้เมื่อมีการค้นพบข้อเท็จจริงอันเป็นปัจจัยตัดสิน และเป็นข้อเท็จจริงซึ่งในขณะที่มีคำพิพากษานั้น ทั้งศาลและคู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้มีการทบทวนคำพิพากษาไม่รู้ว่ามีอยู่ ทั้งนี้ ความไม่รู้เช่นว่านั้นต้องมิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อ

[แก้ไข] ผลของความเห็นแนะนำของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ :

        โดยทั่วไปแล้ว ความเห็นแนะนำของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามข้อ ๖๕(๑) แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น จะไม่มีผลผูกพันองค์กรของสหประชาชาติ หรือทบวงการชำนัญพิเศษ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ให้ขอความเห็นแนะนำจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ตามข้อ๙๖ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งทำให้ผลของการให้ความเห็นแนะนำของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะแตกต่างจากผลของการมีคำพิพากษาของศาลในกรณีของคดีพิพาทระหว่างรัฐ ซึ่งจะมีผลผูกพันคู่กรณี
        ถึงแม้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตลอดทั้งคำพิพากษา และความเห็นแนะนำของศาล จะมีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาหลักกฎหมายระหว่างประเทศก็ตาม แต่บทบาทของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการในทางระหว่างประเทศก็ยังมีไม่มากเท่าที่ควร ในลักษณะที่ว่า ข้อพิพาทระหว่างประเทศที่นำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลนั้นยังจัดว่ามีน้อย เมื่อเทียบกับระยะเวลาอันยาวนานตั้งแต่มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศขึ้น
  • สาเหตุสำคัญประการแรกที่ทำให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีบทบาทอันจำกัด ในฐานะที่เป็นองค์กรตุลาการในทางระหว่างประเทศทั้งที่มีข้อพิพาทระหว่างประเทศเกิดขึ้นมากมาย ก็เพราะว่าข้อพิพาทระหว่างประเทศจำนวนไม่น้อย เป็นข้อพิพาทที่มีลักษณะทางการเมือง ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีเขตอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีพิพาททางการเมืองแต่ประการใด ในกรณีเช่นว่านี้ คู่พิพาทจะหาวิธีระงับข้อพิพาทเช่นว่านั้นด้วยการเจรจา การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม หรือวิธีการระงับข้อพิพาทโดยสันติอื่นใด
  • สาเหตุประการที่สองที่ทำให้บทบาทของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอยู่ในวงจำกัด สืบเนื่องมาจากหลักที่ว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีเขตอำนาจเหนือข้อพิพาทระหว่างรัฐก็ต่อเมื่อรัฐคู่พิพาทยินยอมที่จะเสนอข้อพิพาทให้ศาลพิจารณาและชี้ขาด และในบรรดารัฐภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทั้งหมด มีเพียงงบประมาณร้อยละ๓๐ ของรัฐภาคีเหล่านั้นเท่านั้นที่ยอมรับเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และในบรรดารัฐที่ยอมรับเขตอำนาจศาลต่างก็กำหนดข้อสงวนในลักษณะใดลักษณะหนึ่งไว้ด้วย ในการยอมรับเขตอำนาจศาลดังกล่าว ทำให้ข้อพิพาทที่จะนำขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยิ่งน้อยลงไปอีก
  • สาเหตุประการที่สามที่ทำให้รัฐไม่ยินดีที่จะนำข้อพิพาทขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เกิดจากความรู้สึกของรัฐต่างๆ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป เช่น รัฐที่เพิ่งได้รับเอกราช อาจไม่ต้องการผูกมัดกับพันธกรณีซึ่งตนมิได้มีส่วนร่วมในการตกลงด้วย หรือรัฐอาจไม่ต้องการเป็นความกันในลักษณะของโจทก์ หรือจำเลย หรือรัฐอาจไม่แน่ใจในคำพิพากษาของศาลในลักษณะที่ว่ารัฐไม่ทราบว่าคำพิพากษาของศาลจะออกมาในลักษณะใด เพราะข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่รัฐคู่พิพาทกล่าวอ้างอาจจะขัดแย้ง และแตกต่างกันไป ตลอดทั้งการที่ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาของศาลทำความเห็นแยกต่างหากได้ ซึ่งหลายกรณีเป็นลักษณะของความเห็นแย้ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในการทำคำพิพากษาของศาล
         ศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Court of Justice) ตั้งขึ้นโดยกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2489 เพื่อเป็นองค์การสำคัญทางศาลของสหประชาชาติในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน สืบต่อจากศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศของสันนิบาตชาติ (Permanent Court of International Justice) ตามบทบัญญัติต่อท้ายกฎบัตรองค์การสหประชาชาติ มีอำนาจจำกัดเฉพาะการพิจารณาตัดสินคดีแพ่ง ที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติด้วยกัน ซึ่งประเทศคู่กรณียินยอมให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกรณีพิพาทต่าง ๆ ทางกฎหมายและสนธิสัญญาตามที่สมัชชาใหญ่คณะมนตรีความมั่นคง หรือองค์การชำนัญพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติร้องขอ
        เมื่อปี พ.ศ. 2502 ประเทศไทยเคยเกี่ยวข้องกับศาลโลกในคดีปราสาทเขาพระวิหารกับประเทศกัมพูชา โดยผลสรุปคือศาลโลกตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา         ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานสำคัญในการดำเนินข้อตัดสินทางกฏหมาย เฉพาะประเทศเท่านั้น มิใช่บุคคล ที่จะนำเรื่องขึ้นสู่ศาลนี้ได้ เมื่อประเทศหนึ่งใด เห็นพ้องที่จะให้ศาลโลกดำเนินการ ประเทศนั้นจะต้องสัญญา ว่าจะปฏิบัติตามคำตัดสิน         ศาลดังกล่าวอยู่ที่ "กรุงเฮก" ประเทศเนเธอร์แลนด์ และมีสมัยประชุมถาวร มีผู้พิพากษา 15 คน ซึ่งเลือกโดย สมัชชาและคณะมนตรีความมั่นคง ผู้พิพากษา 2 คน จะมาจากประเทศเดียวกันไม่ได้ ในการตัดสินต้องได้รับ ความเห็นชอบจากผู้พิพากษา 9 คน
ภาพ:สัญลักษณ์.JPG
จากhttp://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น