รูป

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

จำนวนและการเริ่มต้นการเป็นผู้ปกครอง
๑. โดยปกติผู้ปกครองมีได้คราวหนึ่งเพียงคนเดียวเท่านั้น เว้นแต่มีข้อกำหนด
พินัยกรรมของบิดาหรือมารดาระบุชื่อบุคคลให้เป็นผู้ปกครองไว้หลายคนหรือญาติของผู้เยาว์
หรืออัยการร้องขอโดยมีเหตุอันสมควรให้ตั้งผู้ปกครองหลายคน (มาตรา ๑๕๙๐)
๒. ความเป็นผู้ปกครองเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ทราบคำสั่งศาล (มาตรา ๑๕๙๑)
สิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ในปกครอง
๑. ผู้ปกครองต้องจัดทำบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครอง มิฉะนั้นอาจถูกศาลมีคำสั่งถอนผู้ปกครองได้ (มาตรา ๑๕๙๒)
๒. ก่อนศาลยอมรับบัญชีทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครอง ผู้ปกครองจะทำกิจการใดไม่ได้ เว้นแต่เป็นการเร่งร้อนและจำเป็น แต่จะยกข้อห้ามดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ได้ (มาตรา ๑๕๙๕)
๓. ถ้าผู้ปกครองมีหนี้ที่เป็นคุณหรือโทษต่อผู้อยู่ในปกครองต้องแจ้งให้ศาลทราบก่อนลงมือทำบัญชีทรัพย์สิน ถ้าหนี้นั้นเป็นคุณแล้วมิได้แจ้งข้อความนั้นต่อศาลหนี้ของผู้ปกครองนั้นย่อมสูญไป แต่ถ้าไม่เป็นโทษแล้วศาลจะสั่งถอนผู้ปกครองก็ได้ (มาตรา ๑๕๙๖)
๔. ผู้ปกครองต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาลที่สั่งเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินของผู้อยู่ในปกครองและจัดทำบัญชีทรัพย์สินส่งต่อศาลปีละครั้ง (มาตรา ๑๕๙๗)
๕. ผู้ปกครองมีฐานะทำนองเดียวกับบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์
๖. ผู้ปกครองต้องใช้จ่ายเงินได้ของผู้อยู่ในปกครองแต่เฉพาะเพื่อการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของผู้อยู่ในปกครองเท่านั้น ถ้ามีเงินเหลือต้องนำไปลงทุนที่มั่นคงแสวงหาผลประโยชน์ต่อไป
ข้อสังเกต ใช้จ่ายได้เฉพาะเพื่อการอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของผู้อยู่ในปกครองเท่านั้น หากมีเงินเหลือผู้ปกครองจะเอาไปใช้ส่วนตัวไม่ได้ ต่างกับผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรที่เป็นบิดามารดาใช้เงินของบุตรได้ตามสมควร ถ้าบิดามารดาไม่มีเงินได้เหลือเพียงพอแก่การครองชีพตามสมควรแก่ฐานะ
๗. ผู้ปกครองไม่มีสิทธิที่จะได้รับบำเหน็จเว้นแต่จะมีกรณีพิเศษ ดังนี้ (มาตรา ๑๕๙๘/๑๔)
(
๑) มีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมให้ผู้ปกครองได้รับบำเหน็จ
(
๒) ถ้าพินัยกรรมไม่ได้กำหนดบำเหน็จของผู้ปกครองไว้ แต่ไม่มีข้อกำหนดห้ามผู้ปกครองรับบำเหน็จ ผู้ปกครองจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้ ศาลจะกำหนดให้หรือไม่เพียงใดก็ได้
(
๓) ถ้าพินัยกรรมมีข้อกำหนดห้ามไว้ในพินัยกรรมมิให้ผู้ปกครองได้รับบำดหน็จ หากต่อมาภายหลังจากที่ผู้ปกครองเข้ารับหน้าที่แล้ว พฤติการณ์ รายได้ หรือฐานะความเป็นอยู่ของผู้ปกครองหรือผู้อยู่ในปกครองได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้ปกครองอาจร้องขอต่อศาลขอให้สั่งให้บำเหน็จแก่ตนได้
(
๔) ในกรณีที่ไม่มีคำสั่งตั้งผู้ปกครองไว้ในพินัยกรรม และไม่มีข้อกำหนดห้ามผู้ปกครองรับบำเหน็จ ศาลจะกำหนดบำเหน็จให้แก่ผู้ปกครองในคำสั่งตั้งผู้ปกครองก็ได้ หรือถ้าศาลมิได้กำหนด ผู้ปกครองจะร้องขอต่อศาลให้กำหนดบำเหน็จในภายหลังก็ได้ ศาลจะกำหนดให้หรือไม่เพียงใดก็ได้
๘. ผู้อยู่ในปกครองไม่มีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูผู้ปกครอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น